หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจิตตปัญญาศึกษา

 

 

ปรัชญา ความสำคัญของหลักสูตร

        จิตตปัญญาศึกษา วางอยู่บนกระบวนทัศน์แบบองค์รวม (Holistic paradigm) ตั้งต้นสืบค้นความเป็นจริงด้วยฐานปฏิบัติการภายในผ่านช่องทางการรับรู้ทั้งหก ได้แก่ ประสาทสัมผัสและจิตใจ บนท่าทีของการใคร่ครวญเปิดใจ สะท้อนความรู้สึก เปิดความเชื่อพื้นฐาน และร่วมสรรค์สร้าง โดยอาศัยพลังแห่งสติ การตระหนักรู้ และเท่าทันอคติภายใน ร่วมกับการสืบค้นความเป็นจริงแบบปฏิฐานนิยม (แบบวิทยาศาสตร์) การใช้หลักเหตุผล และการประกอบสร้างความหมายเชิงสังคม

        จิตตปัญญาศึกษา มุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจและการฝึกปฏิบัติบนวิถีแห่งประสบการณ์ที่ว่าด้วย ตนเอง ผู้อื่น ชุมชน สังคม โลกและธรรมชาติ บนฐานของการมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงและความเป็นองค์รวม

        มหาบัณฑิตจากหลักสูตรจิตตปัญญาศึกษา จะเป็นผู้ที่เกิดจากการขยับขยายมุมมองพื้นฐานและโลกทัศน์ นำไปสู่การยกระดับของจิตสำนึกและสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในตนเองในชุมชน และในสังคมวงกว้าง อีกทั้งเข้าถึงศักยภาพแห่งความเป็นมนุษย์ที่ดำรงอยู่ในโลกบนการมีอิสรภาพที่แท้

หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจิตตปัญญาศึกษา เกิดจากแนวคิดของผู้ทรงคุณวุฒิและองค์กรหลายฝ่าย

ที่เห็นพ้องต้องกันว่า กระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์มาถึงจุดที่ต้องมีการทบทวนขนานใหญ่

การศึกษาวิชาการนอกตัวเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถแก้วิกฤตการณ์ต่างๆ และไม่สามารถนำพาสังคมไปสู่สุขภาวะได้

ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

ได้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนตามแนวทางจิตตปัญญาศึกษาในปีการศึกษา 2551 ซึ่งหลักสูตรดังกล่าว

มีการจัดกระบวนการเรียนการสอน โดยเน้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ ผ่านกระบวนการเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ

เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของจิตใจให้เหมาะสำหรับการศึกษาเรียนรู้ และเพื่อเป็นตัวสร้างการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนเอง


 

ผลการเรียนรู้ที่คาดหวังของหลักสูตร

        1. มีความเมตตา กรุณา เห็นถึงความสัมพันธ์เชื่อมโยงของมนุษย์และสรรพสิ่ง เอาใจเขามาใส่ใจเรา เปิดใจกว้าง ไม่เอาความเห็นและความต้องการของตนเองเป็นที่ตั้ง มีวินัย ตรงต่อเวลา มีความซื่อสัตย์ทางวิชาการ ไม่คัดลอกผลงานผู้อื่น รับผิดชอบต่อตนเองและส่วนรวม มีความสามารถในการปฏิบัติภาวนาและเจริญสติ ปฏิบัติตามคุณธรรมและจริยธรรมทางวิชาการและวิชาชีพ มีคุณลักษณะตามวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยมหิดล

        2. มีความรู้ความเข้าใจและความเชี่ยวชาญทางวิชาชีพตามแนวทางจิตตปัญญาศึกษาที่มีฐานจากพุทธศาสนา ภูมิปัญญาบรรพกาลและจิตวิญญาณร่วมสมัยเชื่อมโยงกับตนเองและผู้อื่น สามารถบ่งบอกการใช้เครื่องมือกระบวนการจิตตปัญญาศึกษาและกระบวนการปรึกษาเชิงจิตวิทยา มีกระบวนการพัฒนาทฤษฎีและองค์ความรู้ตามแนวทางจิตตปัญญาศึกษาด้วยวิธีวิจัยที่เหมาะสม

        3. ประยุกต์เชื่อมโยงและบูรณาการหลักธรรมกับการดำเนินชีวิตผ่านกระบวนการที่หลากหลาย การนำหลักธรรมทางศาสนาหรือแนวทางจิตตปัญญาศึกษามาแก้ไขและจัดการปัญหาได้ การสังเคราะห์และเชื่อมโยงแนวทางจิตตปัญญาศึกษา สามารถเสวนา อภิปราย ค้นคว้าองค์ความรู้อย่างเป็นระบบ วิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ตามแนวจิตตปัญญา และนำเสนอผลงานทางวิชาการ

        4. มีสัมมาวาจา มีสัมพันธภาพที่เอื้อต่อการอยู่ร่วม และทำงานเป็นทีมได้ มีทักษะในการเป็นผู้นำ มีความรับผิดชอบ ทักษะ ความสามารถ และคุณสมบัติครบถ้วนในด้านการรับฟังอย่างลึกซึ้ง การสื่อสารอย่างสันติ รวมถึงทักษะการคลี่คลายความขัดแย้ง

        5. มีทักษะและความสามารถในการสื่อสารสาธารณะ สามารถสื่อสารระหว่างบุคคลและกลุ่มบุคคลต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม ใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับข้อมูลและเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ การสื่อสารในระบบอินเทอร์เน็ต เครือข่ายสังคมออนไลน์ และการสื่อสารสมัยใหม่อื่นๆ ได้อย่างเชี่ยวชาญและเหมาะสม

ผู้สนใจหรือต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อที่
คุณวัลภา ศรีสวัสดิ์ นักวิชาการศึกษา ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา
โทรศัพท์ 02-4415022-3 ต่อ 16


Views : 5347