กลุ่มคณาจารย์จากเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ 5 แห่ง ได้แก่มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต อุดรธานี สกลนคร กับนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี


ชื่อหัวข้อ  : กลุ่มคณาจารย์จากเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ 5 แห่ง ได้แก่มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต อุดรธานี สกลนคร กับนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี

        สถานที่   : ณ ห้องประชุมอาคาร 10 คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี
วันที่ : 27 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม 2566
เวลา : 8.30-17.00 น.


กลุ่มคณาจารย์จากเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ 5 แห่ง ได้แก่มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต อุดรธานี สกลนคร กับนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความเข้าใจตนเองสู่การเข้าใจผู้อื่น ครั้งที่ 4 ตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม 2566 ณ ห้องประชุมอาคาร 10 คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี จำนวนผู้เข้าร่วมจำนวน 20 คน และนักศึกษาคณะครุศาสตร์ที่เข้าร่วมห้องทดลองสอน แบ่งเป็น 2 ห้อง ๆ ละ 25-30 คน เป็นการฝึกให้แกนนำจากผู้เข้าร่วมของมหาวิทยาลัยเครือข่าย 5 แห่งได้ออกแบบกระบวนการเรียนรู้สำหรับนักศึกษาในสองวันแรก และวันสุดท้ายเป็นการสรุปถอดบทเรียนจากสิ่งที่ได้เรียนรู้ก่อน ระหว่างและหลังทำกระบวนการ กิจกรรมทั้งสองห้องจะถูกออกแบบร่วมกัน โดยนักศึกษาผู้เข้าร่วมการสามารถฝึกฝนการกลับมาอยู่กับปัจจุบันผ่านเครื่องมือต่าง ๆ เช่น การภาวนา เช็คอิน กิจกรรมฐานกาย มีการให้เครื่องมือเรื่องของการฟัง การรู้จักตนเองและผู้อื่นผ่านกิจกรรมบุคลิกภาพเชิงกงล้อสี่ทิศ เรียนรู้เรื่องคุณลักษณะคุณครูที่พึงประสงค์ การสร้างห้องเรียนแห่งความสุขร่วมกัน ซึ่งเสียงสะท้อนส่วนใหญ่เห็นว่าห้องเรียนจะมีความสุขได้ต้องมีการสร้างบรรยากาศในห้องเรียน การรับฟังความคิดเห็น การยิ้มแย้มแจ่มใส การเข้าอกเข้าใจกันระหว่างครูและลูกศิษย์ ฯลฯ จากนั้นในวันสุดท้าย ผู้เข้าร่วมจากมหาวิทยาลัยเครือข่ายได้มีการถอดบทเรียนของศิลปะการเป็นกระบวนกรร่วมกัน ตกผลึกแก่นของจิตตปัญญา ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสติ ความตระหนักรู้ในตนเอง หรือสิ่งที่เติมเต็มทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ การเท่าทันในตนเอง และในกระบวนการที่ตนเองกำลังกระทำ ตรงนี้ก็คือส่วนหนึ่งของจิตตปัญญาเช่นกัน และจากบรรยากาศในห้องทดลองพบว่า เด็กสัมผัสได้ถึงแก่นของจิตตปัญญาที่เป็น รอยยิ้ม อันมาจากใจที่เบิกบาน และเมื่อผู้สอนส่งพลังงานตรงนี้ออกไป ส่งใจที่เบิกบานออกไป สีหน้าแววตาก็จะเต็มไปด้วยรอยยิ้มตลอดเวลา เด็กก็สัมผัสตรงนี้ได้ และถ้าอาจารย์ทุกคนเป็นแบบนี้บรรยากาศของห้องเรียนก็จะมีแต่ความสุข เต็มไปด้วยรอยยิ้มตามไปด้วย นอกจากนี้ยังมีการเสริมในเรื่องของการสังเกตสีหน้า ท่าทีของเด็กเพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนกิจกรรมให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนั้นได้ กระบวนกรต้องระวังไม่ไปโฟกัสที่ใครคนหนึ่งมากเกินไป ต้องมีสติ ควบคุมวง ต้องดูว่าพลังงานแถวไหนเริ่มหลุด แล้วเราจะทำอย่างไรที่จะนำเขากลับเข้ามาในวงได้ กระบวนกรจึงต้องฝึกสติของกระบวนกรด้วย จากนั้นให้ผู้เข้าร่วมถอดบทเรียนจากโจทย์ 4 ข้อ คือ ข้อที่ 1 กิจกรรม 4 ทิศ ถ้าจะนำเรื่องนี้ไปใช้ต่อให้มีพลังมากขึ้น ให้เด็กมีการเรียนรู้มากขึ้นต้องไปทำอะไรต่อไป ตัวอย่างเสียงสะท้อน เช่น การชวนทุกทิศกลับมาทบทวนว่าการที่เราเป็นทิศนั้น ๆ จะปรับใช้กับชีวิตและการทำงานอย่างไร การเชื่อมไปถึงห้องเรียนของเขา หรือชุมชนของเขา ข้อที่ 2 กระบวนการทำงานเป็นทีมอยากปรับอะไร ตัวอย่างเสียงสะท้อน เช่น อยากให้ทีมกระบวนกรอธิบายถึงกิจกรรมต่าง ๆ ให้ชัดเจน เพราะระดับของกระบวนกรแต่ละคนต่างกัน เราอาจไม่เข้าใจชัดเจนในกิจกรรมได้ และอาจเตรียมความฝึกซ้อมบ้าง การอยู่กับวง เวลาทำงานเสร็จเราควรถอดเรื่องการทำงานของทีมด้วย เราแค่ถอดว่าเด็กเป็นอย่างไร การให้กำลังใจซึ่งกันและกันจะสร้างบรรยากาศที่ดี และมาทำ AAR ข้อที่ 3 กระบวนการ วิธีการ หรือกิจกรรมที่เราอยากปรับ มีอะไรบ้าง ตัวอย่างเสียงสะท้อน เช่น ควรจะมีการสำรองกิจกรรม เป็นทางเลือก เพื่อให้หลักสูตรยืดหยุ่นมากพอ เนื่องจากต้องดูกลุ่มผู้เข้าร่วมด้วย ตัวกระบวนกรต้องสามารถชัดเจนในการร้อยเรียงเรื่องราวในการดึงแต่ละกิจกรรมมาใช้ ต้องเป็นศิลปะของกระบวนกรและโจทย์ที่ให้ต้องชัดเจนด้วย ข้อที่ 4 กระบวนกรของทีมต้องปรับเรื่องอะไรบ้าง ตัวอย่างเสียงสะท้อน เช่น ต้องมีความมั่นคงภายใน ต้องมีสติตลอดเวลา พอทำงานเป็นทีมก็ต้องมีหลายคน หลายโจทย์ บางครั้งต้องเข้าใจเนื้อหาของกิจกรรมก่อน ต้องได้มีประสบการณ์ได้ทดลองก่อน จะช่วยให้กระบวนกรมีความมั่นใจมากขึ้น ในเรื่องการมองภาพรวม บางกิจกรรมต้องมีการแบ่งกลุ่มบางครั้งเราแบ่งไม่เป็น เราต้องมองภาพรวมและมีทักษะว่าเราจะนำไปเพื่ออะไร การจัดการเวลา ถ้าเรามองภาพรวมออกเราจะกระชับได้ ยืดหยุ่นได้ ฯลฯ


ภาพกิจกรรม


Views : 58
เนื้อหาในหน้านี้มีประโยชน์หรือไม่ ( -/5)
ให้คะแนน