โครงการอบรบระยะสั้น “ต้นกล้าจิตตปัญญา” ปี 2
วิทยากร
อาจารย์ชรรินชร เสถียร นางสาววารุณี นิลพันธ์ นางสาวประภาพร อนุมานไพศาล และเจริญ สังข์ทอง
สถานที่อบรม
ณ ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตสาลายา จังหวัดนครปฐม
ระยะเวลาอบรม
25 มี.ค. 62 - 29 มี.ค. 62
สถานะ
ปิดรับสมัคร
ระยะเวลารับสมัคร
ปิดรับสมัคร
รายละเอียด

โครงการอบรบระยะสั้น “ต้นกล้าจิตตปัญญา” ปี 2

สนุกสนานละเล่น แบ่งปันแลกเปลี่ยน เขียนได้ทบทวน ชวนระบายภาพในใจ สัมผัสชุมชน ตัวตนเหมือน - ต่าง ใคร่ครวญบนเส้นทาง สู่ย่างก้าวพร้อมผลิบาน...

ห้าวันในค่าย “ต้นกล้าจิตตปัญญา” ปี 2

หลักการและเหตุผล
การบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ให้เติบโตในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและมีปัจจัยเกื้อหนุน จนแตกหน่อผลิใบกลายเป็นต้นกล้าต้นน้อย ค่อยๆ หยั่งรากแผ่ขยายกิ่งก้านใบเป็นไม้ใหญ่งอกงามตามธรรมชาติ ที่รู้เท่าทัน มองเห็นและเข้าใจกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งโลกภายในและโลกภายนอก
โลกภายในจิตใจตนเอง เป็นการกลับเข้าไปสำรวจและสังเกตอย่างลึกซึ้ง รู้ในอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด การจัดการและแสดงออกมาอย่างเหมาะสมตามสถานการณ์และกาลเทศะ การได้ทบทวน มองเห็นศักยภาพ ความสามารถและคุณค่าภายในตนเอง การรู้จักเชื่อมโยงเห็นความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับสิ่งต่างๆ ที่อยู่รายรอบ ทั้งการมีมนุษยสัมพันธ์กับผู้อื่นด้วยการชวนฝึกสติและทำสมาธิผ่านกิจกรรมหลากหลายรูปแบบอย่างสนุกสนาน
โลกภายนอกที่มนุษย์และสรรพสิ่งต่างอิงอาศัยร่วมกัน ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการหลั่งไหลของข้อมูลข่าวสารท่ามกลางกระแสบริโภควัตถุนิยม การชวนให้ได้สังเกต สามารถเลือกรับหรือเลือกเสพอย่างเป็นประโยชน์และเหมาะสม โดยการฝึกฝนตนเองที่ช่วยให้รู้เท่าทัน รวมถึงการขยายมุมมองความเข้าใจที่มีต่อโลกและชีวิตของน้องๆ ทั้งมองเห็นความเชื่อมโยงสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ ระหว่างตัวเองกับเพื่อนๆ ตัวเองกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การเคารพและยอมรับในความแตกต่างหลากหลาย รวมถึงความหมายของการมีชีวิตอยู่และการเป็นส่วนหนึ่งของโลกใบนี้

วัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้รับการอบรม

1. ได้เรียนรู้ทำความรู้จักตนเองอย่างลึกซึ้ง จนนำไปสู่การยอมรับ เคารพและเชื่อมั่นในศักยภาพตนเองเกิดเป็นความมั่นคงภายในตนเอง
2. ได้เรียนรู้ทำความรู้จักผู้อื่น มองเห็นวิถีการใช้ชีวิตที่แตกต่างหลากหลายของเพื่อนและผู้คนรอบข้างมีมุมมองการอยู่ร่วมกันด้วยความเคารพในความแตกต่างหลากหลายของกันและกัน
3. ตระหนักเห็นคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ และมีแรงบันดาลในใจการเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเอง

รูปแบบการดำเนินงาน
กระบวนการเรียนรู้ในค่าย “ต้นกล้าจิตตปัญญา” เป็นการเรียนรู้อย่างเป็นองค์รวม (Holistic Learning) ผ่านการคิดอย่างเป็นระบบ มีเหตุและผล (Head) การลงมือปฏิบัติ เกิดประสบการณ์ตรง (Hands) และเชื่อมโยงบูรณาการสิ่งที่ได้เรียนรู้กับชีวิตผ่านการใคร่ครวญจนเห็นทางออกหรือความเป็นไปได้ใหม่ (Heart) ตามหลักการของปัญญา ๓ ฐาน นั่นคือ ปัญญาฐานกาย (การรับรู้ทางร่างกาย) ปัญญาฐานหัว (ความคิด) และปัญญาฐานใจ (ความรู้สึก) ซึ่งเป็นปัญญาที่สำคัญของมนุษย์ทุกคน โดยกิจกรรมการเรียนรู้จะประกอบด้วยการเคลื่อนไหว งานศิลปะ การพูดคุยแบ่งปันและกระบวนการกลุ่ม รวมถึงการสะท้อนคิด (reflection) โดยกิจกรรมต่างๆ ผสมผสานทฤษฎีการเรียนรู้ ดังนี้
1. การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (transformative learning) คือการเรียนรู้ที่เน้นการสำรวจมุมมอง ความคิด ความเชื่อเดิมของตนเอง เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจากการขยายมุมมอง ความคิด และเกิดความเข้าใจใหม่ๆ ต่อตนเองและผู้อื่น
2. การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรง (experiential learning) คือการเรียนรู้ที่เน้นการเปิดพื้นที่ให้ผู้เรียนได้เกิดประสบการณ์ตรงผ่านการลงมือทำในกิจกรรมต่างๆ ซึ่งทำให้เกิดการประจักษ์แจ้งในสิ่งที่เรียนรู้ ไม่ใช่เพียงการท่องจำเนื้อหาเท่านั้น
3. การเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม (participative learning) คือการเรียนรู้ที่เปิดให้ผู้เรียนสร้างการเรียนรู้ของตนเอง เริ่มตั้งแต่การตั้งเป้าหมายการเรียนรู้ การเข้าร่วมสร้างสรรค์การเรียนรู้ด้วยตนเอง การทำให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ทำให้ผู้เรียนเกิดความเป็นเจ้าของและรับผิดชอบต่อการเรียนรู้ของตนเอง นำไปสู่การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ
กระบวนการเรียนรู้ทั้งหมดจะสอดแทรกการฝึกฝนสติเพื่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เพื่อให้ผู้เรียนได้เข้าใจการทำงานของสติ มองเห็นประโยชน์ของการใช้ชีวิตอย่างมีสติ และเป็นการบ่มเพาะต้นกล้าแห่งสติให้อยู่ในชีวิตของผู้เรียน การฝึกสติผ่านกิจกรรมต่างๆ ในหลักสูตรนี้จะถูกออกแบบให้กลมกลืนไปกับกิจกรรมต่างๆ อย่างเหมาะสมกับช่วงวัยของผู้เรียน

ผู้เข้าร่วม (กลุ่มเป้าหมาย)
เยาวชนที่มีความสนใจอายุตั้งแต่ 13 – 15 ปี จำนวนทั้งสิ้น 40 คน

ระยะเวลาและสถานที่อบรม

หลักสูตรของการอบรมใช้เวลาทั้งวัน จำนวน 5 วัน ระหว่างวันที่ 25 - 290 มีนาคม 2562 ตั้งแต่เวลา 09.00 น. – 16.30 น. (ไม่ค้างคืน) ณ ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

วิทยากร
อ. ชรรินชร เสถียร คุณวารุณี นิลพันธ์ คุณประภาพร อนุมานไพศาลและคุณเจริญ สังข์ทอง

ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1. ได้รู้จักและเข้าใจศักยภาพที่หลากหลายภายในตนเองและผู้อื่น
2. ได้ฝึกฝนพัฒนาการอยู่ร่วมกันกับเพื่อนและผู้คนด้วยใจที่เคารพในการแตกต่างหลากหลายของกัน และกัน และมองเห็นความเชื่อมโยงของตนเอง - ผู้อื่น - สังคม – โลก
3. ได้ความเข้าใจและมุมมองใหม่ที่มีต่อตนเอง เกิดเป็นแรงบันดาลใจและพลังเชิงบวกในการวางเป้าหมายและเห็นแนวทางการพัฒนาตนเอง

หน่วยงานที่รับผิดชอบ
ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

ตารางกิจกรรม

วันที่ 1 : ทำความรู้จักและหลอมรวม

เวลา

กำหนดการ

08.30 ลงทะเบียน
09.00 กิจกรรมทำความรู้จักและเชื่อมความสัมพันธ์กับเพื่อนใหม่
10.30 การฟังด้วยหัวใจ (Deep Listening)
12.00 พักรับประทานอาหารกลางวัน
13.00 ผ่อนพักตระหนักรู้ (Total Relaxation)
14.00 การทำงานร่วมกันเป็นทีม (Group Practice)
16.00 ถอดบทเรียนและสรุปการเรียนรู้ประจำวัน
16.30 กลับบ้าน

วันที่ 2 : ทำความรู้จักตนเอง – ผู้อื่น และเรียนรู้การอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างหลากหลาย

เวลา กำหนดการ

09.00Check in สำรวจความรู้สึก
10.00ผู้นำ 4 ทิศ
12.00พักรับประทานอาหารกลางวัน
13.00ผ่อนพักตระหนักรู้ (Total Relaxation)
14.00การทำงานร่วมกันเป็นทีมจากแนวคิดผู้นำ 4 ทิศ (Group Practice)
16.00ถอดบทเรียนและสรุปการเรียนรู้ประจำวัน
16.30กลับบ้าน

วันที่ 3 : ทบทวนสิ่งสำคัญและความหมายของชีวิต

เวลา กำหนดการ
09.00Check in สำรวจความรู้สึก
10.00สายธารชีวิต
11.00Home
12.00พักรับประทานอาหารกลางวัน
13.00ผ่อนพักตระหนักรู้ (Total Relaxation)
14.00ความสุขและสิ่งเล็ก ๆ ที่งดงาม
16.00ถอดบทเรียนและสรุปการเรียนรู้ประจำวัน
16.30กลับบ้าน


วันที่ 4 : เรียนรู้วิถีชีวิตที่หลากหลาย

เวลากำหนดการ
09.00เตรียมตัวลงชุมชน
10.00
ลงชุมชนเรียนรู้ในพื้นที่ชุมชนพุทธมณฑล สัมผัสชีวิตผู้คน
วิถีแห่งสายน้ำ วัฒนธรรมอาหารการกิน ถิ่นฐานทรัพยากร
ธรรมชาติ สนุกสนานกับภารกิจปฏิบัติการต่างๆ
จากเส้นทางธรรมชาติภายนอก สู่การเดินทางภายใน
ใคร่ครวญเชื่อมโยงกับชีวิตตนเอง
12.00พักรับประทานอาหารกลางวัน
13.00ลงชุมชนพุทธมณฑล (ต่อ)
15.00เดินทางกลับมหาวิทยาลัยมหิดล
15.30ถอดบทเรียนและสรุปการเรียนรู้ประจำวัน
16.30 กลับบ้าน


วันที่ 5 : เชื่อมโยงการเรียนรู้สู่การเติบโตภายใน

เวลา

กำหนดการ

09.00Check in สำรวจความรู้สึก
10.00จักรวาลแห่งความสัมพันธ์
11.00พลังภายในและการปรับ - เปลี่ยนตัวเอง
12.00พักรับประทานอาหารกลางวัน
15.00Self Connection
16.00ถอดบทเรียนและสรุปการเรียนรู้ประจำวัน
16.30กลับบ้าน


หมายเหตุ
(1) กิจกรรมต่างๆ อาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสมของผู้เข้าร่วมอบรมในค่าย
(2) อาหารว่างช่วงเช้าและบ่าย พักตามความเหมาะสม

สิ่งที่ต้องเตรียมมาค่าย
1. ขวดน้ำประจำตัว
2. หมวก สำหรับใส่ในวันที่ลงชุมชน (28 มี.ค. 62)

Views : 178