ขอเชิญเข้าร่วมการอบรมระยะสั้น หลักสูตร "จิตตปัญญาศึกษา คืออะไร"
วิทยากร
ดร.จิรัฐกาล พงศ์ภคเธียร อ.เดโช นิธิกิตต์ขจร และ อ.ปฏิพัทธ์ อนุรักษ์ธรรม
สถานที่อบรม
ณ บ้านแห่งการเรียนรู้และเผยแพร่ บ้านดอยทอง จังหวัดเชียงใหม่
ระยะเวลาอบรม
13 ส.ค. 63 - 14 ส.ค. 63
สถานะ
ปิดรับสมัคร
ระยะเวลารับสมัคร
ยกเลิกกิจกรรม
รายละเอียด

การอบรมระยะสั้น หลักสูตร "จิตตปัญญาศึกษา คืออะไร"
ในวันพฤหัสบดีที่ 13 - วันศุกร์ที่ 14 สิงหาคม 2563 


      ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กำหนดจัดการอบรมระยะสั้น หลักสูตร "จิตตปัญญาศึกษา คืออะไร" วิทยากรโดย ดร.จิรัฐกาล พงศ์ภคเธียร อ.เดโช นิธิกิตต์ขจร และ อ.ปฏิพัทธ์ อนุรักษ์ธรรม

ในวันพฤหัสบดีที่ 13 - วันศุกร์ที่ 14 สิงหาคม 2563 ณ บ้านแห่งการเรียนรู้และเผยแพร่ บ้านดอยทอง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีค่าลงทะเบียน 2 อัตราดังนี้

อัตราที่ 1 : ค่าลงทะเบียนรวมที่พัก 1 คืน ค่าใช้จ่าย 3,600 บาท ต่อท่าน
อัตราที่ 2 : ค่าลงทะเบียนไม่รวมที่พัก ค่าใช้จ่าย 3,200 บาท ต่อท่าน

หลักการและเหตุผล

     จิตตปัญญาศึกษา (Contemplative education) เป็นแนวคิดใหม่ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์ที่พยายามข้ามพ้นข้อจำกัดเดิม ๆ ของการศึกษากระแสหลัก จิตตปัญญาศึกษาได้ก่อกำเนิดขึ้นในแวดวงการศึกษามาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๙ เมื่อครั้งสภามหาวิทยาลัยมหิดลได้มีมติให้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์จิตตปัญญาศึกษาขึ้นในมหาวิทยาลัย ด้วยวัตถุประสงค์สำคัญที่จะร่วมขับเคลื่อนและพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์และสร้างสังคมที่มีสุขภาวะ กระนั้น แนวคิดและแนวทางปฏิบัติแบบจิตตปัญญาศึกษาก็ยังอยู่ในวงแคบซึ่งยังไม่เป็นที่รับรู้มากนัก แม้แต่ในมหาวิทยาลัยมหิดลเอง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะตัวแนวคิดเองที่มีความเป็นนามธรรมสูงและทำความเข้าใจผ่านมุมมองทางวิชาการได้ยาก ส่งผลให้คนทั่วไปไม่อาจเข้าถึงวิธีการและเครื่องมือที่สอดคล้องกับแนวคิดดังกล่าวที่สามารถนำไปสู่การเรียนรู้ที่เป็นรูปธรรมได้เท่าที่ควร

     เป้าหมายของหลักสูตรจิตตปัญญาศึกษาคืออะไรนี้ ต้องการนำพาผู้เรียนให้มีประสบการณ์ เกิดความรู้จัก คุ้นเคย และความเข้าใจที่ถ่องแท้ต่อแนวคิดจิตตปัญญาศึกษา รวมไปถึงแนวทางการเรียนรู้ที่จะนำพาผู้เรียนไปสู่การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานและการยกระดับจิตสำนึก (Transformative learning) ผู้เรียนจะเริ่มเห็นแยกแยะได้ระหว่างการศึกษารูปแบบเดิมที่มีข้อจำกัดกับการเรียนรู้แนวใหม่ที่เปิดศักยภาพและอิสรภาพในความเป็นมนุษย์ นำไปสู่การประยุกต์ใช้เครื่องมือและวิธีการต่าง ๆ บนหนทางการแสวงหาความรู้จนเข้าถึงคุณค่าแบบจิตตปัญญาศึกษาได้ นั่นคือการกลับมาเห็นและยอมรับความเป็นทั้งหมดภายในตนเองบนฐานของการมีความรักความเมตตา อันนำไปสู่ศักยภาพแห่งการเรียนรู้ที่เคารพความเป็นมนุษย์ในทุกมิติ
การอบรมมีทั้งสิ้น ๒ วัน ภาคเช้าตั้งแต่ ๐๙:๐๐ – ๑๒:๐๐ น. และภาคบ่ายตั้งแต่ ๑๓:๐๐ – ๑๗:๐๐ น. โดยแบ่งเนื้อหาการเรียนรู้เป็นสองส่วนหลัก ได้แก่ ส่วนแรกเน้นการมีประสบการณ์ตรงกับภูมิปัญญาสามฐาน การตระหนักรู้ในตนเอง และการใคร่ครวญเจริญสติ และส่วนหลังเน้นการนำประสบการณ์เหล่านั้นไปใช้ในการแสวงหาความรู้และการประยุกต์ใช้ที่เป็นรูปธรรม

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

- ผู้เรียนเกิดความรู้จัก คุ้นเคย และความเข้าใจอย่างถ่องแท้ต่อแนวคิดจิตตปัญญาศึกษา
- ผู้เรียนสามารถใช้เครื่องมือและวิธีการต่าง ๆ เพื่อการแสวงหาความรู้และใคร่ครวญได้ตามแนวทางจิตตปัญญาศึกษา
ผู้เรียนสามารถนำประสบการณ์ไปประยุกต์ใช้ในการเรียนรู้และการทำงานได้ บนหนทางที่เข้าถึงคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ที่แท้

เอกสารที่เกี่ยวข้อง
Download

Views : 202