โครงการการพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการศึกษาด้วยกระบวนการเรียนรู้แนวจิตตปัญญา

 

การปรับเปลี่ยนการจัดการศึกษาที่เอา “วิชา” เป็นตัวตั้งสู่การจัดการศึกษาที่เอา “ชีวิต” เป็นตัวตั้งเพื่อสร้างให้เยาวชนมีทักษะทั้งด้านวิชาความรู้ และทักษะชีวิตในยุคโลกาภิวัตน์ที่มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเทคโนโลยี อย่างรวดเร็วและซับซ้อน จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายพลังความรู้ ความสามารถ พลังกายและพลังใจของคนเป็นครูที่เป็นฟันเฟืองหลักที่สำคัญของการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้
     “การบ่มเพาะหัวใจของจิตวิญญาณของความเป็นครู” เป็นสิ่งที่เราเชื่อว่าเป็นปัจจัยภายในที่สำคัญที่สุดปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยหล่อเลี้ยงพลังกายพลังใจของครูในการรับมือกับแรงบีบคั้นและกระแสของความเปลี่ยนแปลงได้ อย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน เพราะการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญและยั่งยืนที่สุด คือ “การเปลี่ยนแปลงตนเอง” โดย ผ่านกระบวนการ “จิตตปัญญาศึกษา” หรือ “การเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ”เพื่อที่จะสามารถหลอมรวมความมีชีวิตชีวาและจิตวิญญาณแห่งการเรียนรู้เข้าสู่กระบวนการสอนเพื่อให้เกิด “ห้องเรียนที่มีชีวิต” ที่ทั้งครูและนักเรียนต่างได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน
     จากการวิจัยเชิงคุณภาพโดยการสัมภาษณ์ การสนทนากลุ่ม และการเขียนบันทึกของครูอาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาทั้งระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา ทั้ง 63 คน ในครั้งนี้พบว่า“สังฆะ” หรือ “เครือข่ายและชุมชนแห่งการเรียนรู้ของครูแนวจิตตปัญญา” (PLC-Professional Learnning Community) ที่มีแนวคิดหลักของ จิตวิญญาณของความเป็นครู คือ การค้นหาคุณค่าและความหมายของความเป็นครู การเติบโตด้านในตัวตนของครู การนำกระบวนการเรียนรู้แนวจิตตศึกษาไปใช้กับตนเอง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก มุมมอง ปฏิสัมพันธ์ที่มีต่อผู้เรียนและเพื่อนร่วมงาน ปรับเปลี่ยนวิธีการสอนที่ทำให้บรรยากาศในชั้นเรียนเปลี่ยนแปลงไป โดยอาศัยเครื่องมือหลักที่ครูสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาตนเอง แนวการจัดการเรียนการสอน ได้แก่ สุนทรียสนทนา การสะท้อนการเรียนรู้ การออกแบบกิจกรรม การเขียนบันทึก การเขียนอย่างอิสระทำให้ผู้เรียนมีความสุขและมีส่วนร่วมในการเรียนรู้มากขึ้น ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างครูและผู้เรียนดีขึ้นตามไปด้วย และเกิดการตระหนักรู้ร่วมกันว่าชั้นเรียนแบบจิตตปัญญา คือ การพาผู้เรียนให้เชื่อมโยงถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์ในตนเองและผู้อื่น การใช้สติและการระลึกรู้อยู่กับปัจจุบัน การนำกระบวนการสืบค้นมาปฏิบัติในชีวิตของตนเองอย่างต่อเนื่องจนเกิดความเบิกบานและผ่อนคลายภายใน เกิดความรักความเมตตาและเชื่อในคุณค่าความเป็นมนุษย์เพิ่มขึ้น และเครือข่ายและชุมชนการเรียนรู้ ที่มีเป้าหมายร่วมกันในการพัฒนาการเรียนการสอนแนวจิตตปัญาศึกษา การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีปฏิบัติเชิงวิชาชีพของตนเองและการส่งเสริมสนับสนุน และให้กำลังใจในการพัฒนาตนเองเชิงวิชาชีพระหว่างกัน

 


 


 


 


  





การบ่มเพาะผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ของชุมชนแอโก๋ – แสนคำลือ ด้วยกระบวนการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงแนวจิตตปัญญาศึกษา
The Cultivation of Change Agents amongst the Youth in Aeko – Saenkumlue Village, using the Contemplation-oriented Transformative Facilitation

 

คณะผู้วิจัย : สมสิทธิ์ อัสดรนิธี, มนทิพย์ กิจยิ่งโสภณ, ยิ่งยอด หวังประโยชน์, เดโช นิธิกิตตน์ขจร, และ สุปรียส์ กาญจนพิศศาล

 

โครงการวิจัยเรื่อง การบ่มเพาะผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ของชุมชนแอโก๋ – แสนคำลือ ด้วยกระบวนการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงแนวจิตตปัญญาศึกษา เป็นการวิจัยเชิงทดลองคล้ายธรรมชาติ โดยความสำคัญอยู่ที่การจัดกระบวนการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงแนวจิตตปัญญาศึกษาให้แก่ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งที่คัดเลือกมาเป็นผู้เข้าร่วมการวิจัยแบบเฉพาะเจาะจง โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ ได้แก่ เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงด้านในอันเป็นศักยภาพภายในของผู้เข้าร่วม ประเมินผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินโครงงานต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนชุมชนอันเป็นศักยภาพภายนอกของผู้เข้าร่วม และผลักดันให้เกิดการสื่อสารและเรียนรู้ร่วมกันกับชาวบ้านของแอโก๋ – แสนคำลือ ผลของการวิจัยชี้ว่า กลุ่มผู้เข้าร่วมเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านใน ได้แก่ การเริ่มที่จะสื่อสารความรู้สึกภายในออกมาอย่างซื่อตรง ความกล้าและมั่นใจในการพูดการแสดงออกต่อหน้าสาธารณะ การเริ่มประคองสติและควบคุมกาย / ใจให้มีความสงบเย็น การเริ่มเห็นความสำคัญและแสดงออกในลักษณะของการเอาใจเขามาใส่ใจเราและการพึ่งพาอาศัยกัน การได้รับแรงบันดาลใจในการเป็นผู้นำที่ดี และการมีสัมพันธภาพที่มั่นคงดีงามกับบุคคลใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม ยังไม่เกิดมุมมองร่วมที่เชื่อมโยงพลังของกลุ่มเข้าด้วยกันให้สามารถขับเคลื่อนงานเชิงระบบในภาพรวมได้ ส่วนผลสัมฤทธิ์ภายนอกนั้นแม้กลุ่มสามารถพัฒนาทักษะของการพูดการแสดงออกต่อหน้าสาธารณะได้ดี รวมถึงให้ความสำคัญและฝึกฝนด้านการทำบัญชีครัวเรือนและการเขียนโครงการอย่างจริงจัง แต่กลุ่มก็ยังไม่สามารถรวมตัวเพื่อริเริ่มงานเชิงระบบได้ ส่งผลให้การขับเคลื่อนงานต่าง ๆ เพื่อชุมชนนั้นจะต้องใช้เวลาบ่มฟักจนกว่าจะถึงซึ่งความพร้อมของแต่ละคนที่จะขับเคลื่อนออกมาได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป นอกจากนี้ การจัดกิจกรรมสื่อสารและพบปะกันระหว่างกลุ่มผู้เข้าร่วมวิจัย คณะผู้วิจัย และชาวบ้าน สามารถสร้างการสานสัมพันธ์ และปรับทัศนคติให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น อาจกล่าวได้ว่า ผลของกระบวนการเรียนรู้ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของจิตสำนึกของผู้เข้าร่วมจนส่งผลดีต่อระดับสัมพันธภาพใกล้ชิด แต่ยังไปไม่ถึงระดับชุมชน / สังคมโดยรวม ผู้วิจัยได้ให้แนวทางการเรียนรู้เชิงลึกต่อเนื่องเพื่อการยกระดับจิตสำนึกและพัฒนาภาวะผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลงให้มีความสมบูรณ์ โดยประกอบด้วยกรอบการดำเนินงาน 3 ด้าน คือ การพัฒนาศักยภาพมิติด้านในขั้นสูง การเชื่อมโยงกับรากเหง้าและวิถีชีวิตเพื่อเข้าถึงคุณค่าและเป็นแบบอย่างที่ดีงาม และการฝึกฝนทักษะการเป็นกระบวนกร

 

1. โครงการบ่มเพราะผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ ของชุมชนแอโก๋-แสนคำลือ


2. การจัดกระบวนการเรียนรู้ครั้งที่ 1 วันที่ 20-30 สิงหาคม 2557


3. การจัดกระบวนการเรียนรู้ครั้งที่ 4 วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม 2558


4. เสียงจากผู้นำรุ่นใหม่ ของหมู่บ้านแอโก๋-แสนคำลือ





จากใจสู่ใจ คุณค่า ความสุข และพลังภายในที่แท้จริง: การพัฒนาความมั่นคงภายในของสตรีต้องขังตามแนวทางจิตตปัญญาศึกษา

 

ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

 

คณะผู้วิจัย : สมสิทธิ์ อัสดรนิธี, เพริศพรรณ แดนศิลป์, จิรัฐกาล พงศ์ภคเธียร

 

โครงการจากใจสู่ใจ คุณค่า ความสุข และพลังภายในที่แท้จริง: การพัฒนาความมั่นคงภายในของสตรีต้องขังตามแนวทางจิตตปัญญาศึกษา เป็นโครงการที่อยู่ภายใต้การจัดทำกรอบยุทธศาสตร์พัฒนาคุณภาพชีวิตสตรีที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของสตรีต้องขังและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้มีความมั่นคงภายในบนวิถีของสุขภาวะเชิงจิตวิญญาณ อีกทั้งเพื่อพัฒนากระบวนการเรียนรู้ต้นแบบแนวจิตตปัญญาศึกษาที่มีความสอดคล้องกับบริบทของสตรีต้องขัง เพื่อสื่อสารให้สังคมเกิดความตระหนักรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับสตรีต้องขัง รวมถึงเพื่อสร้างองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องทั้งในด้านการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสม การศึกษาสภาวะด้านในและการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานในสตรีต้องขังที่ผ่านกระบวนการ และการศึกษาทัศนคติของบุคคลภายนอกที่มีต่อสตรีต้องขัง ทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในเชิงระบบต่อไป ผลของการดำเนินโครงการชี้ให้เห็นว่า กระบวนการเรียนรู้แนวจิตตปัญญาศึกษาสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานในตัวสตรีต้องขังได้ โดยทำให้เกิดการขยับขยายโลกทัศน์ที่มีความกว้างขวางและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น กล่าวคือสามารถเห็นและเข้าใจความหมายของความเชื่อมโยงระหว่างตัวเองกับคนรอบข้าง รวมถึงครอบครัวและคนที่ตนเองรักและผูกพัน อีกทั้งขยับสู่การเห็นถึงคุณค่าความหมายของการเป็นตัวของตัวเองอยู่ท่ามกลางความเชื่อมโยงสัมพันธ์กับสรรพสิ่งรอบตัวบนฐานของหลักการมีเหตุและผล และหลักการมีความรับผิดชอบในทุกการกระทำ นอกจากนี้ ยังเกิดทัศนคติที่ดีต่อการภาวนา มีเครื่องมือเพื่อกลับมาดูแลสติและความมั่นคงภายในของตนเองได้ และตระหนักรู้ต่อสภาวะในปัจจุบันขณะ นำไปสู่การยอมรับและเห็นหนทางที่จะพัฒนาตนเองให้เติบโตได้ต่อไป ปรากฏการณ์เหล่านี้มีความสอดคล้องกับคุณลักษณะของตัวสตรีต้องขังที่ประเมินได้ระหว่างการจัดกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งประกอบด้วย การมีสติรู้ตัว การมีสัมพันธภาพที่สร้างสรรค์กับคนรอบข้าง การก้าวข้ามกรอบความคิดเดิม และการมีอิสรภาพและเข้าถึงคุณค่าภายใน รวมถึงสอดคล้องกับทัศนคติของบุคคลภายนอกที่เกิดขึ้นต่อสตรีต้องขังที่ว่า มนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดต่างมีคุณค่าและศักยภาพภายในไม่ต่างกัน และวิถีชีวิตในเรือนจำมิได้เป็นอุปสรรคในการบ่มเพาะสันติสุขและความมั่นคงภายในให้บังเกิดขึ้น ในส่วนของกระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ เป็นกระบวนการที่มีคุณลักษณะครบทั้ง 14 ประการ ดำเนินอยู่บนความต่อเนื่องยาวนานพอและเป็นขั้นเป็นตอน ตั้งแต่ขั้นปรับตัว ขั้นเปิดมุมมอง และขั้นสร้างความมั่นคงระยะยาว ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องออกแบบให้เหมาะสมกับวาระของผู้เรียนเป็นสำคัญ ส่วนตัวกระบวนกรเองก็จะต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสมสอดคล้อง และอยู่บนฐานความเชื่อพื้นฐานที่น้อมนำต่อการเติบโตทางจิตวิญญาณ



  


  


 


  



Views : 926