ฟ้าหลังฝน: ก้าวใหม่ในชีวิตของอดีตผู้ต้องขัง

หมวดหมู่ เวทีจิตตปัญญาเสวนา / ครั้งที่ 67

หลักการ


ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ที่กระทำความผิดทางอาญาและต้องรับโทษทางอาญาเป็นจำนวนมาก จากข้อมูลเชิงสถิติของกรมราชทัณฑ์พบว่าการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังในประเทศไทย (รวมชายและหญิง) ในปี 2559 นั้นมีผู้กระทำผิดและรับโทษทางอาญาจำคุกแบ่งเป็นผู้ต้องขังชายจำนวน 264,878 คน ผู้ต้องขังหญิงจำนวน 42,๐7๐ คน รวมทั้งสิ้น 3๐6,948 คน พบว่ามีผู้ต้องขังที่พ้นโทษแต่ละปีเกือบสองแสนคนแต่มีผู้กระทำผิดซ้ำร้อยละ 26.97 ของผู้ต้องขังที่พ้นโทษ (กลุ่มงานพัฒนาระบบการพัฒนาพฤตินิสัย, 256๐ )

ถึงแม้ว่านโยบายของกระทรวงยุติธรรม จะร่วมมือกับหลายๆ ฝ่ายในการ “คืนคนดี สู่สังคม” โดยการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย แต่ในโลกแห่งความจริงทุกครั้งที่มีการปล่อยตัวผู้ต้องขังออกจากเรือนจำ มักทำให้ประชาชนเกิดความหวาดระแวง วิตกกังวลเกรงว่าผู้ต้องขังเหล่านี้เมื่อพ้นโทษออกมาแล้วจะมาก่ออาชญากรรมเพิ่มขึ้น ทำให้กรมราชทัณฑ์ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และพยายามสร้างความเข้าใจต่อประชาชนว่า ผู้ต้องขังเหล่านี้เมื่อกลับคืนสู่สังคมจะไม่กลับมาสร้างปัญหาหรือก่อคดีอีก เพราะทุกเรือนจำจะมีการอบรมกลั่นกรองผู้ต้องขังและเรียกผู้อุปการะหรือผู้ปกครองมาทำความเข้าใจ และตรวจสอบถึงครอบครัว ความเป็นอยู่ ความพร้อมต่างๆ เพื่อคัดกรองผู้ต้องขังทุกคนให้เข้าหลักสูตรการอบรมก่อนที่จะมีการปล่อยออกสู่สังคม แต่ปัจจุบันคนในสังคมจำนวนไม่น้อยที่ยังมีความหวาดระแวงและตั้งข้อรังเกียจ โดยมองว่าผู้พ้นโทษ อาจก่ออันตราย มีความรู้สึกไม่ปลอดภัยที่ต้องอยู่ร่วมในสังคมกับอดีตผู้ต้องโทษ เมื่อขาดโอกาสพิสูจน์ตัวเอง ก็อาจเป็นเหตุให้ผู้พ้นโทษส่วนหนึ่งกระทำผิดซ้ำและกลับเข้าไปในเรือนจำอีก ชีวิตของคนที่เคยทำผิดพลาด คงไม่ง่ายที่จะกลับคืนสู่สังคมได้อย่างปกติเหตุหนึ่งก็เพราะมักจะถูกปิดกั้นโอกาสในการประกอบอาชีพ หรือการจะต้องกลับไปอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิมๆ ที่มีปัจจัยเสี่ยงในการกระทำผิดซ้ำภายหลังจากการพ้นโทษออกมาตนได้ลองหางานทำในหลายๆ ที่ได้รับโอกาสบ้าง ไม่ได้รับบ้าง เพราะบางคนก็มองว่าตนเคยกระทำความผิด จึงกลัวว่าถ้ารับเข้ามาทำงานอาจจะมีปัญหาได้
ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีโอกาสนำ โครงการ “จากใจสู่ใจฯ” โดยเป็นการนำกระบวนการเรียนรู้ทางจิตตปัญญา เข้าไปสร้างสุขภาวะในมิติที่ลึกซึ้งเชิงจิตวิญญาณให้เกิดแก่สตรีต้องขังที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งการจัดกระบวนการเรียนรู้ในโครงการนี้ออกแบบให้ผู้เข้าร่วมโครงการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาที่ยาว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 – ปัจจุบัน โดยมีการแบ่งพื้นที่ศึกษาออกเป็นทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ เรือนจำกลางขอนแก่น และขยายไปเรือนจำอำเภอสวรรคโลกในปี 256๐ และมีอดีตผู้ต้องขังที่ผ่านโครงการจำนวนหนึ่งที่มีความมั่นคงภายในตนเอง สามารถยืนหยัดต่อสู้ในสังคมปัจจุบันได้โดยไม่หันกลับไปกระทำความผิดซ้ำอีก ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดลและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของจุดยืนในสังคมของอดีตผู้ต้องขังที่พ้นโทษ

วัตถุประสงค์

1. เพื่อใช้เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนมุมมอง ทัศนคติ และสร้างทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับอดีตผู้ต้องขัง
2. เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ของอดีตผู้ต้องขังหลังพ้นโทษและผู้ประกอบการที่เปิดรับอดีตผู้ต้องขังเข้าทำงาน
3. เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมความพร้อม “คืนคนดีสู่สังคม” ของรัฐบาล

เป้าหมาย

1. วิทยากรจากโครงการจากใจสู่ใจฯ และกลุ่มอดีตผู้ต้องขัง
2. บุคลากรจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และภาคีเครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
3. ผู้ประกอบการที่เปิดรับอดีตผู้ต้องขังเข้าทำงาน
4. บุคลากร นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไป

ผลลัพธ์

ผู้เข้าร่วมเกิดการแลกเปลี่ยนมุมมอง ทัศนคติ การเรียนรู้ร่วมกัน ตลอดจนการนำไปสู่การสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการเตรียมความพร้อม “คืนคนดีสู่สังคม”



Views : 195